หลายท่านอาจจะสงสัย เกี่ยวกับพิธีกรรมการครอบเทริด (บางฅนอ่านว่า เท-ริด จริงๆแล้วอ่านว่า เทริด นะครับ) ซึ่งมีความยุ่งยากและซับซ้อนไม่เบาเลยทีเดียว พิธีครอบเทริด หรือพิธีผูกผ้าใหญ่ เป็นพิธีกรรมโรงครูอีกแบบหนึ่งที่จัดขึ้น เพื่อเปลี่ยนสถานภาพโนรารุ่นใหม่ ให้เป็นโนราเต็มตัวพิธีกรรมนี้จะมีขึ้นหลังจากโนราฝึกร่ายรำจนชำนาญ ครูโนราจะทำพิธีครอบเทริด- เครื่องประดับศีรษะ ซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่มีความสำคัญที่สุด ให้แก่โนราใหม่ หากโนรายังไม่ผ่านพิธีกรรมนี้ จะถือว่าเป็นโนราที่ไม่สมบูรณ์ หรือโนราดิบ หรือถ้าโนราคนไหนชิงแต่งงาน มีสามีก่อนเข้าร่วมพิธีนี้ ก็จะถูกเรียกว่า โนราราชิก หรือ โนราปราชิก โนราทั้งสองแบบจะไม่สามารถประกอบพิธีกรรมสำคัญ ๆ อย่างพิธีโนราโรงครูของชาวบ้านได้
ด้วยเหตุที่เทริดเป็นสัญลักษณ์สำคัญ ที่บ่งบอกสถานภาพโนรา ขั้นตอนการสวมเทริดในพิธีโรงครูจึง "ไม่ธรรมดา" และกลายเป็นจุดสำคัญของงานเลยก็ว่าได้ โดยโนราใหม่ จะต้องนั่งบนก้นขันเงินใบโต ซึ่งคว่ำอยู่กลางโรง ตรงกับเทริดที่ถูกผูกเชือก และชักขึ้นไปติดบนเพดาน หลังจากนั้นจึงมีคนค่อย ๆ ผ่อนเชือกให้เทริดลงครอบศีรษะโนราพอดิบพอดี เมื่อเสร็จขั้นตอน โนราใหม่ต้องร่ายรำด้วยท่าทางต่าง ๆ ที่ร่ำเรียนมาต่อหน้าครูโนราอย่างน้อยเจ็ดคน คล้ายกับเป็นการแสดงความสามารถ เพื่อขอจบหลักสูตร
นอกจากพิธีครอบเทริด จะทำให้โนรารู้สึกว่า ตนเป็นโนราที่สมบูรณ์แล้ว พิธีกรรมนี้ยังมีผลต่อความรู้สึกของชาวบ้าน ที่ต้องการเชิญโนรามาประกอบพิธีโรงครู ให้แก่ครอบครัวของตนด้วย เพราะชาวบ้านเชื่อว่าร่างโนรา ที่ผ่านพิธีครอบเทริด เป็นร่างพิเศษเหนือมนุษย์ทั่วไป สามารถสื่อสารกับโลกวิญญาณได้ เพราะการร่ายรำโนรา เป็นความรู้ของเทพยดา ที่มาบังเกิดในร่างมนุษย์ เห็นได้จากตำนานกำเนิดโนรา ราชธิดาตั้งครรภ์ด้วยเทพยดา และเด็กน้อยที่เกิดมาก็ร่ายรำโนรา ได้อย่างสวยงาม กระบวนการหัดเป็นโนรา ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ช่วยสนับสนุนความเชื่อนี้ เพราะท่ารำโนราต้องอาศัยพละกำลัง และความยืดหยุ่นของร่างกายสูงมาก
ดร. ปริตตา เฉลิมเผ่า กออนันตกูล กล่าวถึงเรื่องนี้ในบทความ "ร่างในละครชาวบ้าน" ว่า
"...กระบวน การเป็นโนรา คือการรับเอาร่างของครูหมอโนรา เข้ามาไว้ในร่างของลูกหลาน ในเมื่อครูหมอโนรา เป็นร่างที่ยิ่งใหญ่กว่ามนุษย์ทั่วไป โนราจึงสามารถทำสิ่งที่มนุษย์อื่นทำไม่ได้ เช่น สามารถขดตัวลงในถาด หรือแอ่นตัวไปด้านหลังม้วนเป็นวงกลม จนศีรษะที่สวมเทริด โผล่ออกมาระหว่างขาได้ นอกจากนั้นโนราในร่างครูหมอ หรือครูหมอในร่างโนรา ยังมีพลังที่จะสามารถจัดการ ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายอื่นได้"
ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงเกิดความไว้วางใจให้โนรา ที่ผ่านพิธีครอบเทริด ประกอบพิธีโรงครูให้ตน เพราะหากโนรา ยังไม่ผ่านกระบวนการทำให้ร่างกายมีลักษณะพิเศษ มีความสามารถในการร่ายรำท่ายาก ๆ และมีความรู้เชิงไสยศาสตร์ สำหรับเชิญวิญญาณฝ่ายดี กำจัดวิญญาณฝ่ายร้าย การแก้บนจะไม่ขาด ครอบครัวเจ้าภาพที่เชิญโนรามาประกอบพิธี จะได้รับความเดือดร้อนในภายหลัง และต้องเชิญโนราคณะอื่น ที่มีความสามารถมากกว่ามาทำพิธีให้อีกครั้ง การเลือกโนรามาประกอบพิธี จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะค่าใช้จ่ายในการตั้งโรงครูทุกวันนี้ราคาสูงมาก ปัจจุบันก็หลายหมื่นบาท หรือบางทีก็เกือบแสนบาท แล้วการตั้งโรงครูครอบเทริด ก็จำต้องเสียค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าแน่นอน
ในยุคปัจจุบัน แน่นอนว่าบทบาทของโนรานั้นหร่อยหรอลงไปทุกวัน มีเพียงฅนเฒ่าฅนแก่เสียส่วนใหญ่ ที่ให้ความสำคัญแก่พิธีกรรมนี้ วัตถุประสงค์ที่หลายคนอาจจะมองข้าม สำหรับโนราโรงครูแล้ว ผมขอสรุปเป็น 2 ข้อหลักๆ คือ
1.เพื่อประกอบพิธีไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา อันเป็นการแสดงความกตเวทิตาคุณต่อครูบาอาจารย์ และบรรพบุรุษของตน
2.เพื่อ ประกอบพิธีแก้บนหรือแก้เหมย อาจะเป็นเพราะเหตุของความเชื่อที่ว่าครูหมอโนราหรือตายายโนรายังมีความ สัมพันธ์อยู่กับลูกหลานและผู้มีเชื้อสายโนรา ท้องถิ่น อีกทั้งลูกหลานหลายฅนไร้ที่พึ่ง จึงมักบนบานต่อครูหมอโนราเพื่อขอในเรื่องต่างๆอยู่เสมอ
0 comments:
แสดงความคิดเห็น