คำว่า “งานตายายย่าน” หมายถึง งานรำลึกถึงบรรพบุรุษเทือกเถาเหล่ากอของวงศ์ตระกูล โดยเฉพาะ “แม่เจ้าอยู่หัว” ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษของคนท่าคุระด้วย ทุกคนในครอบครัวรวมทั้งที่ย้ายภูมิลำเนาไปยังถิ่นอื่นจะกลับมาชุมนุมพร้อมกัน ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลแก่บรรพบุรุษ จะกลับมาหรือแก้บนสร้างสิริมงคลให้เกิดแก่ชีวิตและครอบครัวในปัจจุบัน
ที่วัดท่าคุระมีการเปิดเต็นท์ขายสินค้าพื้นเมือง ขายขนมท้องถิ่นตั้งแต่ขนมลา (ขนมพอง) ขนมโคกะละแม ข้าวเหนียว (แดง) กวน ฯลฯ เต็มพื้นที่วัด และสิ่งที่เป็นหัวใจของงานก็คือ “การรำโนราโรงครู” หรือมโนราห์โรงครูแก้บนถวายแม่เจ้าอยู่หัวนั่นเอง
งานตายายย่าน สรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว เริ่มทำตั้งแต่บ่ายวันพุธจนย่ำค่ำของวันพฤหัสบดี ผู้คนจากทุกสารทิศเข้าแถวเพื่อรอสรงน้ำทั้งหนุ่มสาวไปจนถึงผู้เฒ่าผู้แก่ ในมือถือแก้วน้ำลอยดอกไม้ประพรมน้ำอบ แม้ว่าอากาศเดือนพฤษภาคมจะร้อนอบอ้าวจนเหงื่อไหลไคลย้อย แต่ทุกคนต่างอดทนด้วยแรงศรัทธา
การสรงน้ำจัดขึ้นในโบสถ์วัดท่าคุระ หลังจากเจ้าอาวาสและพระผู้ประกอบพิธีอัญเชิญเจ้าแม่อยู่หัวออกมา ประชาชนต่างเบียดเสียดรอสรงน้ำเจ้าแม่อย่างใจจดใจจ่อ
ผู้เฒ่าวัย ๗๐ ปีเศษ ก้มกราบเจ้าแม่อยู่หัว ศีรษะจรดพื้นด้วยความนบนอบและนับถือ |
เจ้าแม่อยู่หัวเป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดเล็ก ปางสมาธิ ตามตำนานเล่าว่า เจ้าแม่อยู่หัวเป็นตัวแทนของ “พระหน่อ” ซึ่งเป็นที่นับถือของคนลุ่มทะเลสาบสงขลา ตั้งแต่ระโนด สทิงพระ จนถึงกระแสสินธุ์ ที่สัมพันธ์กับตำนานเรื่องเล่าในท้องถิ่นอันเกี่ยวพันกับวัดพะโคะ ซึ่งเป็นวัดสำคัญในสมัยอยุธยาที่มีสมเด็จพระเจ้าพะโคะหรือหลวงปู่ทวด พระสงฆ์ผู้ศักดิ์สิทธิ์แห่งคาบสมุทรอยู่ที่นั่นเอง
องค์เจ้าแม่วางอยู่บนพานเงินล้อมองค์ด้วยดอกไม้สด ข้างเคียงเป็นพระพี่เลี้ยงวางอยู่ในหีบเหล็กที่วัดท่าคุระจัดไว้บนฐานปูน ต่อท่อให้น้ำไหลลงไปยังสระนอกโบสถ์สำหรับชาวบ้านนำกลับไปบูชา ถือเป็นน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ช่วยให้เกิดความสุขกายสบายใจ ระหว่างสรงน้ำเจ้าแม่อยู่หัว พระสงฆ์จะสวดให้พรและแก้บนด้วยการรำมโนราห์ถวายหรือด้วยวิธีการอื่นๆ เช่น การบวชพระและสามเณร บวชชี หรือถวายข้าวตอกดอกไม้และบริจาคทานเพื่อสร้างอุโบสถวัด
การแก้บนที่สำคัญซึ่งถือกันว่าเป็นสิ่งที่เจ้าแม่โปรดปรานที่สุดคือการรำมโนราห์ถวาย เรียกกันว่า การรำโรงครู ตามแบบฉบับดั้งเดิม เล่ากันว่าหากไม่รำถวาย จะเกิดเหตุไม่ดีแก่ตนเองและครอบครัว
การเบิกโรงของมโนราห์เริ่มด้วยการตั้งเครื่องโหมโรงประกาศราชครู รำเบิกโรง-รำแม่บท ออกพราน รำคล้องหงส์ แทงจระเข้ เฆี่ยนพราย ดังนั้นคณะมโนราห์ที่ออกโรงในงานประเพณีตายายย่านจะต้องมีความเจนจัดในนาฏศิลป์แขนงนี้เป็นพิเศษ ปีนี้มโนราห์คณะสมพงษ์น้อย ศ. สมบูรณ์ศิลป์ จังหวัดพัทลุง เป็นคณะเบิกโรงในงานพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์แก่คนลุ่มทะเลสาบสงขลา
ระหว่างการแสดง ลูกหลานเจ้าแม่อยู่หัวที่เข้าร่วมพิธีจะสลับขึ้นมารำถวายตลอดทั้งวัน
ในวัย ๒๔ ปี ครูแอน หรือ จิราวรรณ ชะนีทอง ครูอนุบาลโรงเรียนบ้านท่าคุระ ผู้ดูแลคณะมโนราห์เด็กบอกว่า งานตายายย่าน บ้านท่าคุระ เป็นงานประเพณีท้องถิ่นที่เธอมีความภาคภูมิใจ ความศรัทธาต่อเจ้าแม่อยู่หัวทำให้คณะครูโรงเรียนบ้านท่าคุระก่อตั้งคณะมโนราห์ขึ้นมา โดยคัดสรรเด็กนักเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓-๖ มารำผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันทุกปี โดยมีครูมโนราห์จริงๆ เป็นผู้สอน
การฝึกมโนราห์เด็กโรงเรียนบ้านท่าคุระถูกจัดอยู่ในรายวิชานาฏศิลป์พื้นบ้าน แต่การรำมโนราห์แก้บนในงานตายายย่านยังแฝงไว้ด้วยความศรัทธาในเจ้าแม่อยู่หัว เด็กๆ ที่เข้ารับการฝึกฝนมีความเต็มใจและภาคภูมิที่ได้รำถวายเจ้าแม่อยู่หัว รวมถึงครอบครัวของพวกเขาเอง
ครูแอนเล่าว่า ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจและศรัทธาแก่คนในชุมชน ไม่ว่า คนในชุมชนจะออกไปทำงานไกลแค่ไหน เมื่อถึงงานประเพณีในแต่ละปี ลูกเจ้าแม่อยู่หัวจะกลับบ้านเพื่อร่วมสรงน้ำและรำมโนราห์ถวาย ความศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าแม่อยู่หัวขจรขจายสู่จิตใจคนลุ่มทะเลสาบ เป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางวัฒนธรรมที่เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธา
การรำมโนราห์ถวายมีทั้งรำมโนราห์ทรงเครื่อง รำออกพรานร่วมกับบนบวชนาค บวชชี รำกระบี่กระบอง ใครบนอย่างไร รำถวายอย่างนั้น และมีธรรมเนียมกันว่า หากมีลูกชายคนหัวปีอายุเข้า ๑๔-๑๕ ปี ให้จัดทำขนมพอง (ขนมลา) ๑ สำรับ ถ้าเป็นลูกผู้หญิงหัวปีให้ทำขนมโค ขนมขาว ขนมแดง ถวาย หากไม่ทำจะทำให้ประสบเหตุเภทภัยและทุกขเวทนาต่างๆ
สิ่งที่สำคัญคือ สำนึกในสายเลือดของคนที่ถือตนว่าเป็นลูกหลานเจ้าแม่อยู่หัว การกลับมาร่วมพิธีถือเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อสิ่งศรัทธา นอกจากนี้ทุกปีในช่วงเวลานี้ เครือญาติสนิทมิตรสหายต่างกลับมาพบหน้าค่าตา เป็นความผูกพันโดยมีเจ้าแม่อยู่หัวเป็นเครื่องยึดเหนี่ยว และรักษาสืบทอดการรำมโนราห์ให้เป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานที่ครูแอนภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง
ชาวบ้านผู้ขึ้นมารำแก้บนถวาย ตั้งแต่เช้าจรดบ่ายถึงย่ำค่ำของวันพฤหัสบดี หมุนเวียนไม่ |
การบนบานหรือ “เหมรย” ในภาษาพื้นถิ่นแบ่งเป็น ๒ ชนิด คือ เหมรยปาก อันเป็นการสัญญากันด้วยวาจา และ เหมรยห่อ หมายถึงการสัญญาโดยมีห่อเครื่องสังเวย เมื่อประสบผลแล้วจึงมาแก้ห่อแล้วรำมโนราห์ถวาย
ลูกหลานเจ้าแม่อยู่หัวทุกคนเชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ การบนบานศาลกล่าวนั้น ใครขออะไรแล้วทำความดีร่วมจะสมดังความปรารถนา ใครบนบานอะไรไว้แล้วรำมโนราห์ถวายจะประสบความสำเร็จ ไม่เกิดเหตุการณ์ร้ายในชีวิต เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคนสองฝั่งทะเลสาบสงขลามานับร้อยปี
การรำโนราเป็นศิลปะที่อ่อนช้อยและเป็นที่นิยมของคนลุ่มทะเลสาบ กินพื้นที่ตั้งแต่สงขลาถึงพัทลุงซึ่งถือตนว่าเป็นลูกหลานของโนรา เครื่องดนตรีประกอบด้วย กลอง ทับ ฉิ่ง โหม่ง และปี่ เร้าอารมณ์ผู้ที่รำถวายเจ้าแม่อยู่หัวราวกับต้องมนต์สะกด
นอกจากนี้ยังมีการเหยียบเสน เป็นการบำบัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งจะกระทำโดยโนราใหญ่ที่ผ่านพิธีกรรมและกระทำพร้อมกับการร่ายรำโนราโรงครู ผู้เข้ารับการเหยียบเสนจะต้องเตรียมถาดรองน้ำ หมากพลู รวงข้าว หญ้า ธูปเทียน โนราใหญ่จะเริ่มร่ายรำพร้อมมีดหมอในมือ ก่อนใช้ฝ่าเท้าจุ่มน้ำโดยมีผู้ช่วยจับหัวแม่เท้าของโนราใหญ่อังกับเทียนไขพออุ่น ก่อนร่ายรำอีกครั้งแล้วนำไปแตะที่บริเวณศีรษะ ฝ่าเท้า หรืออวัยวะต่างๆ ของร่างกาย เชื่อว่าเป็นการปัดเป่าโรคภัยและช่วยให้รอดพ้นจากวิบัติต่างๆ
ความเชื่อเหล่านี้ฝังรากลึกอยู่ในสำนึกร่วมของชุมชนมานานนับร้อยปี และไม่ว่าใครจะเชื่อเหตุผลใด ประเพณีตายายย่านหลอมละลายหัวใจคนลุ่มทะเลสาบสงขลาเป็นหนึ่งเดียว ฝังลงในแผ่นทองขององค์เจ้าแม่อยู่หัวโดยมีมโนราห์เป็นสื่อแสดงออกซึ่งความศรัทธา
จนถึงปีหน้า คนสองเลจะกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง…
0 comments:
แสดงความคิดเห็น