พิธีกรรมสำคัญ สำหรับคนใต้ที่นับถือ ตายาย (บรรพบุรุษ ปู่ย่า ตายาย ที่ตายไปแล้ว คนใต้จะเรียกว่า "ตายาย" ) เมื่อใด ที่มีความทุกข์ หรืออยากให้ตนพบความสุข ความเจริญ ลูกหลานจะนึกถึง ตายาย และเชื่อว่าตายาย เป็นผู้ดลบันดาลให้ตน ได้รับผลตามที่ปรารถนา จึงได้มีการจัดพิธีกรรม โนราโรงครู เพื่อรำลึกถึงตอบแทนบุญคุณตายาย ที่ทำให้ชีวิตมีความสุข ความเจริญ นั่นเอง
พิธีกรรมนี้ นับวัน ยิ่งหาดูได้ยาก เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงแล้ว โนราผู้ประกอบพิธีกรรมต้องมีความรอบรู้ เป็นอย่างมาก และที่สำคัญ โนราผู้ประกอบพิธีกรรม จะต้องผ่านพิธีการ "ครอบเทริด" ( เครื่องประดับศรีษะ) หรือที่คนใต้ เรียกว่า โนราตัดจุกแล้ว ซึ่งถือว่าเป็นโนรา ที่จบหลักสูตรโนราอย่างสมบูรณ์ มาเป็นผู้ทำพิธีกรรม โนราโรงครู เท่านั้น
ขั้นตอนสำหรับพิธีโนราโรงครู เริ่มต้นตั้งแต่การสร้างโรงโนรา ที่จะต้องประกอบด้วยองค์ประกอบที่สำคัญๆ หลายอย่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสาระสำคัญทั้งสิ้น เช่น การปลูกโรง ต้องเป็นโรงหลังคาหน้าจั่ว กว้าง ๔ คูณ ๕ เมตร ปลูกแบบไม่ยกพื้น หันหน้าไปทางทิศตะวันออก พื้นที่โรงแบ่งเป็นสองส่วน คือพื้นที่ด้านหน้าสำหรับประกอบพิธีกรรม และแสดง และที่พื้นที่ด้านหน้านั้น ด้านขวามือจะต้องเป็นที่ตั้งของ "พาไล" หรือหิ้งยาวสูงระดับสายตา ปูด้วยไม้กระดานสำหรับวางเครื่องเซ่น
ด้านซ้ายมือซึ่งอยู่ตรงข้ามกับพาไล มี "นัก" หรือ "พนัก" ทำจากเสาไม้ปักดิน ความสูงเหนือเข่าเล็กน้อย มีราวพาดด้านบนสำหรับให้ตัวแสดงนั่ง ความกว้างขนาดนั่งพร้อมกันได้ไม่เกินสองคน หันหน้าไปทางพาไลให้ตายายได้ชม ดังรูปบน นายโรงนั่งบนพนัก หันหน้าเข้าหาหิ้งตายาย
ในการสร้างโรงโนรา ทุกขั้นตอนจะไม่ใช้การตอกตะปู แต่จะใช้วิธีการมัด เหมือนการผูกมัด ผูกพัน ระหว่างตายาย กับลูกหลาน นอกจากนี้ ภายในโรงยังต้องมีสัญลักษณ์อีกมากมาย ที่ช่วยเชื่อมโลกมนุษย์กับโลกวิญญาณเข้าด้วยกัน ซึ่งจะขาดไม่ได้แม้แต่อย่างเดียว เช่น "เพดาน" ผ้าขาวสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาดใหญ่กว่าผ้าเช็ดหน้าเล็กน้อย ห้อยลงมาจากเพดานจริง แล้วผูกสายสิญจน์โยงเข้าสู่หิ้งบูชาบรรพบุรุษบนบ้าน เพื่อให้วิญญาณบรรพบุรุษ ไต่ลงมาร่วมพิธีภายในโรง
และเมื่อถึงเวลา ทำพิธีเชิญตายาย นายโรงจะเรียกสมาชิกในตระกูล ของเจ้าภาพทุกคนเข้ามานั่งรวมกันในโรง เพื่อทำพิธีชุมนุมครู เชิญ "ตายาย" หรือผีบรรพบุรุษมาสิงสถิตบนสาดคล้าที่ปูไว้กลางโรง โนราร้องเชิญตายายตามรายชื่อที่เจ้าภาพเขียนมา โดยไม่ให้ตกหล่น เพราะหากเอ่ยชื่อไม่ครบ ตายายจะโกรธ และอาจมาลงโทษลูกหลานในภายหลังได้
การทำพิธีโนราโรงครู ของที่นี่ใช้เวลา 3 วัน โดยโนราจะเข้าโรงในตอนบ่ายวันพุธ ทำพิธีเชิญตายายมาชุมนุมภายในโรง ตกกลางคืนมีการร่ายรำโนราให้ตายายชม เช้ารุ่งขึ้น ทำพิธีไหว้ครู ตกบ่ายจึงเชิญตายายมาเข้าทรงพบปะลูกหลาน และรับเครื่องเซ่น และจะส่งตายายในวันศุกร์
หลังจากโนราทำพิธีไหว้ครูแล้ว จะเริ่มต้นแสดง ด้วยการรำบทครูสอน โดยการสอนท่ารำพื้นฐาน ๑๒ ท่าให้ชม เพื่อรำลึกถึงคุณครูและถือเป็นการถ่ายทอดการร่ายรำโนรา สู่เด็กรุ่นใหม่ต่อไป
ในระหว่างวันจะเป็นการแสดง ละครที่มีเรื่องราว ที่เป็นคติสอนใจ เช่น เรื่องพระรถเมรี ที่สอนให้เห็นว่าแม่ สำคัญกว่าเมีย , เรื่องไกรทอง ให้รู้พระคุณครูบาอาจารย์ หรือ เรื่องราว กฏแห่งกรรม ฯลฯ
ตัวละครที่เรียกเสียงหัวเราะ และเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของโนรา คือ "ตัวพราน" เพราะตัวพรานเป็นตัวตลกของคณะจะคอยแทรกมุขตลกโดยเฉพาะบทพูดสองแง่สองง่าม เรียกเสียงฮาจากคนดูได้ตลอดเวลา นอกจากนี้ท่ารำของพรานยังมีเอกลักษณ์ เวลาพรานออกรำจะสวมหน้ากากที่เรียกว่า "หน้าพราน" หรือ "หัวพราน" เป็นหน้ากากครึ่งหน้า ไม่มีส่วนคาง หน้าพรานมีความสำคัญมาก เพราะเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคล
เมื่อโนราแสดงจับบทออกพรานจนครบ ๑๒ บท ก็จะเปิดโอกาสให้ทำ "พิธีเหยียบเสนเด็ก" ซึ่งเป็นพิธีกรรมดั้งเดิมโบราณ ที่จะช่วยให้เด็กหายป่วยจากโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง ที่มีลักษณะคล้ายปาน ซึ่งเชื่อกันว่า การเป็นปาน หรือ เสน นี้ ผีเจ้าเสน เป็นผู้ทำให้เกิดขึ้น
ในสมัยก่อนการเป็นปานเช่นนี้ จะรักษาให้หายได้ยาก และปานจะมีขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น ตามอายุ จะรักษาให้หายต้องให้ โนราโรงครูเป็นผู้เหยียบให้เท่านั้น ในวันงานที่เราไป มีพ่อแม่ นำเด็ก มาให้ โนราโรงครู เหยียบเสน รักษา 2 คน คนหนึ่ง เป็นปานที่ท้อง และอีกคนเป็นที่ กระหม่อม ( ลักษณะของปานเหมือนเป็นก้อนเนื้อสีแดง ใส )
ในการรักษา ก็คือการกำจัดผีเจ้าเสน โดยโนราจะต้องรำเฆี่ยนพราย ซึ่งเป็นท่ารำที่มีอำนาจมาก จะใช้เมื่อต้องการปราบหรือกำจัดอำนาจอื่น เช่น ต้องการปราบผี "เจ้าเสน"
โนราทำพิธีรักษา โดยการใช้นิ้วเท้าเหยียบลงบนเสนที่ตัวเด็ก ซึ่งจากภาพ เสนอยู่ที่ศรีษะของเด็ก ระหว่างที่เหยียบเสนเด็กนั้น โนราจะท่องคาถานะโม เพ่งจิตระลึกถึงคุณครู เพื่อให้พลังครูหมอส่งผ่านมายังร่างของตนและปราบผีเจ้าเสนได้สำเร็จ ในขณะที่ทำพิธี เด็กไม่ส่งเสียงร้องเลย แต่มีกริยา หัวเราะ เริงร่า ให้ได้เห็น ช่างน่าอัศจรรย์จริงๆ
เมื่อเสร็จพิธีเหยียบเสนเด็ก โนราเดินถือผ้าขาว เข้าไปที่หิ้งผีในบ้านเพื่อรับตายายลงมา พบปะลูกหลานในพิธีเข้าทรง หลังจากนั้นโนราจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายแล้วพักกินข้าว ก่อนจะทำพิธีเข้าทรงต่อไป
สิ่งสำคัญของการทำพิธีโนราโรงครูนี้ นอกเหนือจากแสดงความกตัญญูกตเวที กับบรรพบุรุษแล้ว ก็คือ การที่ลูกหลานจะได้พบปะพูดคุย กับบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วหลายชั่วคน ผ่านร่างทรง โดยมีโนราผู้เชี่ยวชาญทางการร่ายรำ และไสยศาสตร์เป็นผู้ประกอบพิธี จุดมุ่งหมายหลักของการแสดงโนราในงานนี้ จึงไม่ได้อยู่ที่การให้ความบันเทิง เช่นมหรสพทั่วไป หากทำหน้าที่เชื่อมสายใย และผูกสัมพันธ์คนใต้ในโลกนี้ และโลกหน้าให้เป็นหนึ่งเดียว ในวัฒนธรรมถิ่นใต้ นอกจากงานบุญเดือนสิบแล้ว ก็มีงานโนราโรงครู ที่ญาติพี่น้องจะได้กลับมาไหว้ผีบรรพบุรุษ แบบพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นโอกาสดี ที่ได้มาร่วมงานนี้ ได้ถ่ายทอดเรื่องราว ความเป็นตัวตนของคนใต้ ที่มีความรักความผูกพัน กับบรรพบุรุษ ให้กับเพื่อนๆได้รับรู้กัน
ขอขอบคุณ ข้อมูลจากหนังสือสารคดี
0 comments:
แสดงความคิดเห็น